Home Blog อันตรายจากการลื่นล้มในบริเวณทางเดินสามารถป้องกันได้อย่างไร

อันตรายจากการลื่นล้มในบริเวณทางเดินสามารถป้องกันได้อย่างไร

by Nellie Mcdonalid
360 views
อันตรายจากการลื่นล้มบริเวณทางเดิน

เราจะมีวิธีป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากการลื่นล้มบริเวณทางเดินได้อย่างไร

เมื่อพูดถึงอันตรายจากการลื่นล้มในบริเวณทางเดิน อาจฟังดูเหมือนไม่มีอันตรายอะไร แต่ก็มีหลายครั้งที่การลื่นล้มส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงใช้ระยะเวลาในการรักษาเป็นเวลานาน เช่น กระดูกหัก และ หากเราทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ก็จะมีส่วนทำให้อาจจะเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มได้ แต่หากพื้นที่การทำงานมีสภาพแวดล้อม ความปลอดภัยที่ดี ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน และท่าทางการทำงานที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ Ergonomics ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานได้

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม

ทุกคนมีโอกาสลื่นล้มได้ อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอายุ สภาพแวดล้อม พฤติกรรม แต่ผู้ที่มีความเสี่ยง มากกว่าบุคคลทั่วไปที่มีโอกาสลื่นล้มได้มากกว่า เช่น

  • ผู้สูงอายุ
  • คนพิการหรือมีความผิดปกติของร่างกาย
  • พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น

ลื่นล้มในห้องน้ำ

 

บริเวณไหนบ้างที่อาจลื่นล้ม

บริเวณที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม เราอาจจะไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน ว่าเป็นบริเวณไหนบ้าง แต่หากเราไม่ระมัดระวัง ทุกสถานที่ สามารถลื่นล้มได้เสมอ แต่หากจะนึกถึง วันนี้เราจะขอพูดถึงสถานที่ที่คิดว่ามีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ได้แก่

  • ห้องน้ำ

ห้องน้ำ เป็นสถานที่ที่ต้องเปียกน้ำแทบจะตลอดเวลา ซึ่งอาจมีคราบฟองสบู่ ฟองแชมพูสระผม หากไม่ล้างทำความสะอาดให้ดี ก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะลื่นล้มได้ง่าย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ และเด็ก ผู้ที่อยู่ในวัยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว

  • ห้องครัว 

เนื่องจากห้องครัว เป็นพื้นที่ ที่ใช้สำหรับประกอบอาหาร ซึ่งมีการใช้น้ำมัน มีการล้างจาน การทำความสะอาด อาจทำให้มีร่องรอยของคราบน้ำมัน น้ำยาสำหรับซักล้างต่างๆ หกลงบนพื้น หากไม่ระวังอาจเหยียบและลื่นล้มได้เช่นกัน

  • ทางเดิน 

เนื่องจากทางเดิน เป็นเส้นทางใช้สำหรับเดิน สัญจร โดยเฉพาะ จึงทำให้มีการเดินไปมาบ่อยครั้ง หากทางเดินไม่สะอาดพอ หรือวัสดุที่ใช้สำหรับทำทางเดิน ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ลื่นล้มได้ หรือสะดุดล้มได้

  • ดาดฟ้า

ดาดฟ้า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่อาจทำให้ลื่นล้มได้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ชั้นบนสุดของตึก และไม่มีหลังคา เมื่อมีฝนตก จะทำให้มีน้ำขัง เกิดตะไคร่น้ำ ทำให้คนที่ขึ้นไปอาจลื่นล้มได้

  • บริเวณปฏิบัติงานที่ต้องใช้น้ำมัน

ในบริเวณที่มีการปฏิบัติงานที่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น เช่น งานปั๊มเหล็ก ที่ต้องฉีดน้ำมันเข้าไปในเครื่องจักร เพื่อหล่อลื่นชิ้นงาน หากผู้ปฏิบัติงานขาดความระมัดระวัง และไม่ได้ทำความสะอาดในบริเวณพื้นที่ ที่ปฏิบัติงาน อาจจะทำให้ลื่นล้มได้ จากคราบน้ำมันที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

อันตรายจากการลื่นล้ม

หากพูดอันตรายที่เกิดจากการลื่มล้ม การลื่นล้มแต่ละอย่างมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

 

ช่วงอายุไหนอันตรายที่สุด

 

  • อายุของผู้ที่ลื่นล้ม  

ซึ่งหากคนที่ลื่นล้มมีอายุมาก อาจจะทำให้ได้รับบาดเจ็บมากกว่าและการรักษาหายช้ากว่าคนที่มีอายุน้อย โดยส่วนมากเรามักจะเห็นว่า ผู้สูงอายุที่ลื่นล้ม จะมีความรุนแรงมากกว่าการลื่นล้มของผู้ที่อายุน้อยกว่า และใช้เวลาในการรักษายาวนานกว่า หายช้ากว่า

  • ท่าทางในการล้ม  

การหกล้ม ลื่นล้มในอิริยาบถที่แตกต่างกัน ส่งผลต่ออันตรายและความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุมากน้อย ต่างกันด้วย  เช่น หากเราเดินไปแล้วลื่นล้ม อาจจะแค่เป็นแผลถลอก เขียวช้ำ แต่หากวิ่งไปแล้วล้มลง น้ำหนักในการทิ้งตัวของผู้ลื่มล้ม ก็จะมากกว่า ย่อมทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่าการเดินแล้วล้ม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็อาจจะถึงขั้น ทำให้เข่ากระแทก หัวแตก หรือขาหักได้

  • อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจากการลื่นล้ม

อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ มีผลต่อความรุนแรงของระดับอันตราย เปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ เช่น หากบาดเจ็บที่หัวเข่า ย่อมมีอันตรายน้อยกว่าการบาดเจ็บที่ศีรษะ

 

การติดตั้งป้ายเตือน

 

การป้องกันอันตรายจากการลื่นล้ม

การป้องกันอันตรายจากการลื่นล้ม สามารถทำได้หลายวิธี โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่และการใช้งาน แต่ในที่นี้ จะขอพูดถึงการป้องกันอันตรายจากการลื่นล้มบริเวณทางเดิน เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับสัญจร มีการเดินไปมาของผู้คนจำนวนมาก จึงทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้สูง ได้แก่

  • การเลือกวัสดุสำหรับทางเดิน

การเลือกวัสดุสำหรับทางเดิน ถือเป็นขั้นตอนแรกของความปลอดภัย หากเราเลือกวัสดุที่เหมาะสม ย่อมส่งผลให้เกิดความปลอดภัย เช่น ใช้พื้นหยาบแทนพื้นขัดมัน เป็นต้น

  • การใช้ป้ายเตือน

การใช้ป้ายเตือนสำหรับพื้นทางเดินที่อาจลื่นได้  โดยการติดป้ายเตือนให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ระวังลื่น ทางต่างระดับ หรือการตั้งป้ายกรณีมีน้ำหก หรือมีการทำความสะอาด เพื่อให้คนที่เดินผ่านไปมา เห็นและระวังในการใช้เส้นทาง เป็นต้น

  • เทปกันลื่น

ติดเทปกันลื่นบริเวณทางเดินหรือทางต่างระดับ เพื่อช่วยให้คนที่ใช้ทางเดินเกิดความปลอดภัยมากขึ้น หรือเป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันว่า บริเวณนั้นเป็นทางต่างระดับ เพื่อให้ผู้ที่ใช้ทางเดินเกิดความระมัดระวังเวลาเดิน

 

การติดเทปกันลื่นบริเวณบันได

 

  • การทำความสะอาด 

การทำความสะอาดบริเวณทางเดิน เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินกลางแจ้งหรือทางเดินในอาคาร ซึ่งวิธีการทำความสะอาดอาจแตกต่างกัน แต่ต้องกำหนดความถี่ในการทำความสะอาดให้ชัดเจน เช่น หากเป็นทางเดินกลางแจ้งและเป็นพื้นที่ที่สามารถทำความสะอาดได้ อาจกำหนดให้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดัน ฉีดทำความสะอาดเดือนละครั้ง แต่หากเป็นทางเดินในอาคาร โรงงาน ต้องทำความสะอาดทุกวัน เพื่อป้องกันการลื่นล้ม

  • การกำหนดกฎในการเดิน

การกำหนดกฎในการเดิน เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันอันตรายจากการลื่นล้มในระหว่างเดินได้ เนื่องจากกฎ สามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนเกิดความปลอดภัย เช่น

  • ห้ามวิ่ง เพราะหากวิ่งอาจทำให้ล้มได้ หรืออาจชนกับคนที่เดินผ่านไปมา
  • ห้ามใช้โทรศัพท์ขณะเดิน เพราะหากเราเดินไปเล่นโทรศัพท์ไปด้วย เราก็จะไม่มองสิ่งรอบข้างอาจจะเดินไปเหยียบน้ำที่หก แล้วลื่นล้มได้
  • ห้ามเดินล้างกระเป๋า เพราะหากเดินล้างกระเป๋า แล้วสะดุดล้มจะไม่มีมือในการค้ำตัวเอง อาจทำให้หัวฟาดพื้นได้

สรุป

ทุกคนมีโอกาสได้รับอันตรายจากการลื่นล้มได้ ซึ่งการลื่นล้มเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่เราสามารถป้องกันอันตรายจากการลื่นล้มได้ เช่น เดินด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามข้อกำหนด ก็สามารถลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้

เกี่ยวกับเรา

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่คุณสามารถค้นหาบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ที่สามารถอ่านได้ฟรี! และมีการอัปเดตเนื้อหาใหม่ทุกๆวัน 

Copyright @2023  All Right Reserved – Designed and Developed by kentvalentine