เราจะมีวิธีป้องกันอันตราย และวิธีการทำงานที่ถูกต้อง กับเสียงดังจากเครื่องจักรได้อย่างไร
การปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมมีเสียงดังเกิดขึ้น ซึ่งระดับเสียงก็แตกต่างกันไปตามประเภทของกิจการ เพียงแต่เสียงนั้นต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของกฎหมาย และมีมาตรการควบคุม ป้องกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน
ใครบ้างที่มีโอกาสได้รับอันตรายจากเสียงดัง
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมทั้งระยะเวลาและประเภทกิจการที่ต้องดำเนินการ ได้กำหนดไว้ใน หมวด 4 การตรวจวัดระดับเสียงและประเภทกิจการที่ต้องดำเนินการ โดยกำหนดประเภทของกิจการที่ต้องตรวจวัดระดับเสียงไว้ดังนี้ การระเบิดหิน ย่อยโม่หรือบดหิน การผลิตน้ำตาลหรือทำให้บริสุทธิ์ การผลิตน้ำแข็ง การปั่น ทอโดยใช้เครื่องจักร การผลิตเครื่องเรือน เครื่องใช้จากไม้ การผลิตเยื่อกระดาษหรือกระดาษ กิจการที่มีการปั้มหรือเจียรโลหะ กิจการที่มีแหล่งกำเนิดเสียง หรือสภาพการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายเนื่องจากเสียง
นั่นหมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการตามประเภทที่กำหนดมีโอกาสได้รับอันตรายจากเสียงดังอาจจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป
การป้องกันอันตรายจากเสียงดัง
การป้องกันอันตรายเสียงดังจากเครื่องจักร โดยใช้หลักการการป้องกันที่ตัวเครื่องจักรหรือแหล่งกำเนิด (Source) การป้องกันที่ทางผ่าน (Path) และการป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การป้องกันที่เครื่องจักรหรือแหล่งกำเนิด (Source)
การป้องกันอันตรายเสียงดังจากแหล่งกำเนิดหรือเครื่องจักร คือ การแก้ไขที่ตัวเครื่องจักร เสียงดังมาจากส่วนไหนให้แก้ไขที่ส่วนนั้น เช่น สายพานหย่อนทำให้เกิดเสียงดัง น็อตยึดส่วนของเครื่องจักรคลายตัวทำให้เกิดการกระทบกันของชิ้นส่วนเครื่องจักรจึงเกิดเสียง เมื่อพบส่วนที่ทำให้เกิดเสียงดัง ก็แก้ไขที่ส่วนนั้น นี่คือการแก้ไขเสียงดังที่ตัวเครื่องจักรหรือแหล่งกำเนิดของเสียง
การป้องกันที่ทางผ่าน (Path)
การป้องกันเสียงดังที่ทางผ่าน เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เช่น การเพิ่มระยะห่างระหว่างคนกับแหล่งกำเนิดของเสียง ซึ่งยิ่งอยู่ไกลกัน เสียงที่ได้ยินก็ลดลงด้วย การสับเปลี่ยนหมุนเวียนพนักงาน เช่น การทำงานกับเครื่องจักรที่มีเสียงดังครึ่งวันเช้า กับครึ่งวันบ่าย ให้เปลี่ยนพนักงานเป็นคนละคน เพื่อลดระยะเวลาในการสัมผัสเสียงของผู้ปฏิบัติงานให้น้อยลง
การป้องกันที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver)
การป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน คือ การกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ppe ช่วยลดเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับ ได้แก่ ที่อุดหูลดเสียง (Earplugs) และที่ครอบหูลดเสียง (Earmuff)
ที่อุดหูลดเสียง (Earplug)
เป็นอุปกรณ์ลดเสียง ชนิดสอดเข้าไปในหู เพื่อลดเสียง เป็นชนิดที่นิยมใช้กัน เนื่องจากราคาถูก พกพาสะดวก และมีขนาดเล็ก วิธีการใส่ที่อุดหูลดเสียง ที่อุดหูลดเสียง มีทั้งแบบที่ต้องบีบก่อนใส่และไม่ต้องบีบ ซึ่งวิธีการสวมใส่มีดังนี้
- หากเป็นชนิดโฟมให้บีบให้แบนก่อนสอดเข้าไปในช่องหู แต่หากเป็นซิลิโคน สามารถสอดเข้าไปได้เลย
- หากสวมใส่ข้างซ้าย ใช้มือขวาอ้อมไปด้านหลังศีรษะ แล้วดึงใบหูซ้ายขึ้นด้านบน เพื่อเปิดช่องหู แล้วจึงใช้
- มือขวาสอดที่อุดหูเข้าไป หากต้องการสวมใส่ข้างขวา ใช้มือซ้ายอ้อมไปด้านหลังศีรษะ แล้วดึงใบหูขวาขึ้นด้านบน แล้วจึงสอดที่อุดหูเข้าไป
- เมื่อต้องการถอดที่อุดหูลดเสียงออก ให้หมุนออกอย่างช้าๆ อย่าดึงหรือกระชากออกมาด้วยความเร็ว
ที่ครอบหูลดเสียง (Earmuff)
เป็นอุปกรณ์ลดเสียงที่มีลักษณะเหมือนหูฟังแบบครอบหู สามารถปรับเลื่อนได้ตามขนาดของศีรษะ แต่มีขนาดที่ใหญ่ ใส่แล้วอาจจะไม่สะดวกสำหรับการทำงาน
ทั้งที่อุดหูลดเสียงและที่ครอบหูลดเสียงเมื่อมีการใช้งานต้องรักษาความสะอาดและจัดเก็บให้เรียบร้อยเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว
ซึ่งในการเลือกซื้อที่อุดหูลดเสียงหรือที่ครอบหูลดเสียงนั้นต้องดูอัตราการลดเสียงของอุปกรณ์ (NRR = Noise Reduction Rating) ว่าค่าที่เราต้องการลดคือเท่าไหร่เลือกซื้อให้เหมาะสมกับการใช้งาน
วิธีการทำงานกับเสียงดังอย่างถูกวิธี
การทำงานกับเครื่องจักร นอกจากผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสความเสี่ยงจากการถูกหนีบ ถูกดึง ยังมีโอกาสได้รับสัมผัสเสียงหากเครื่องจักรนั้นมีเสียงดังในขณะที่เครื่องทำงาน เช่น เครื่องปั๊มโลหะ เครื่องเชื่อมโลหะ เป็นต้น ซึ่งเครื่องจักรแต่ละประเภท มีอันตรายที่แตกต่างกัน การทำงานกับเครื่องจักรแต่ละประเภทจึงแตกต่างกันด้วย
เราสามารถบริหารจัดการให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานกับเครื่องจักรที่มีเสียงดังได้อย่างปลอดภัยซึ่งอยู่ที่สถานประกอบกิจการว่าจะจัดการอย่างไร เช่น
- ติดป้ายเตือนอันตรายแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีเสียงดัง
- ติดป้ายบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีเสียงดังสวมที่อุดหูหรือที่ครอบหูลดเสียงแล้วแต่ความเหมาะสม
- สับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับสัมผัสเสียง
- ตรวจสอบเครื่องจักรประจำวันก่อนการใช้งาน และทำ PM เครื่องจักร ตามรอบระยะเวลา เพื่อยืดอายุการใช้งาน
- ตรวจวัดสภาพแสดล้อมในการทำงาน เรื่อง เสียง และตรวจสมรรถภาพการได้ยินของผผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
- หมั่นตรวจสอบพฤติกรรมการปฏิบัติงานและการสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีเสียงดัง
- การจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินตามกฎหมาย
จากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น แต่ละสถานประกอบกิจการอาจเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม อยู่ที่ระดับเสียงของแต่ละพื้นที่ด้วยว่ามีความดังมากน้อยเพียงใด สามารถดูได้จาก ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับ เฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน
สรุป
การปฏิบัติงานกับเสียงดังสามารถทำได้ แต่ระดับเสียงต้องไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดและต้องมีมาตรการป้องกัน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ปฏิบัติงาน โดยต้องมีการตรวจวัดระดับเสียงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และกรณีมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรอุปกรณ์ กระบวนการผลิต วิธีการทำงาน หรือการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับเสียง รวมถึงต้องตรวจสมรรถภาพการได้ยินให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย