Home Blog คปอ. มีความสำคัญกับระบบความปลอดภัยในการทำงานอย่างไร

คปอ. มีความสำคัญกับระบบความปลอดภัยในการทำงานอย่างไร

by Nellie Mcdonalid
447 views
ทำความรู้จักกับ คปอ.

คปอ. คืออะไร สำคัญอย่างไร

คปอ. คือ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety Committee) เป็นกลุ่มคน ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านความปลอดภัยร่วมกับบริษัท เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน กับพนักงาน ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอกที่เข้ามาภายในสถานประกอบกิจการ    

เมื่อไหร่ต้องมี คปอ.

เมื่อเรารู้แล้วว่า คปอ. คืออะไร เรามาดูกันว่า แล้วเมื่อไหร่ล่ะที่ต้องจัดให้มี คปอ. กฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มี คปอ. ภายใน 30 วัน  นับแต่วันที่มีลูกจ้างครบ 50 คน  โดยวิธีการได้มาซึ่ง คปอ. นั้นมาจากการเลือกตั้ง

โดยการเลือกตั้ง คปอ. มีวิธีเหมือนการเลือกตั้งโดยทั่วไป ต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีการลงคะแนนเสียง มีการนับคะแนน ในกรณีที่มีผู้สมัครเกินจำนวนที่ต้องการ  แต่จากประสบการที่ผ่านมามักพบว่า ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ต้องใช้วิธีการแต่งตั้ง คปอ. ขึ้นมา และเมื่อมีการแต่งตั้งแล้ว ต้องให้คณะกรรมการได้รับการอบรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 60 วัน หลังจากการแต่งตั้ง

โดยผ่านการอบรมกับสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย

 

ต้องมี คปอ. ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ต้องมีสัดส่วนจำนวน คปอ. กี่คนถึงจะเพียงพอและถูกต้องตามกฎหมาย

การกำหนดจำนวน คปอ. ขึ้นอยู่กับจำนวนของพนักงานในสถานประกอบกิจการนั้นๆ โดยกฎกระทรวง ได้กำหนดจำนวนของ คปอ. ไว้ดังนี้

  • มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 100 คน มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน
  • มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 500 คน มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 7 คน
  • มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คน มีคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 11 คน

ซึ่งในส่วนขององค์ประกอบของ คปอ. สามารถดูได้จากกฎหมายฉบับเต็ม และจากการทำงานที่ผ่านมา จำนวน คปอ. ก็มีผลต่อการทำงานด้านความปลอดภัยของบริษัทด้วยเช่นกัน เพราะหากจำนวนน้อยเกินไป การดำเนินงานด้านความปลอดภัยของบริษัทอาจไม่มีประสิทธิภาพ หรือหากจำนวนมากเกินไป ในการประชุม หรือดำเนินกิจกรรมในแต่ละครั้งก็อาจเกิดความวุ่นวายได้

เพราะอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อยู่ที่การบริหารจัดการของแต่ละสถานประกอบกิจการด้วย แต่เบื้องต้น ต้องไม่ลืมว่า จำนวน คปอ. ห้ามน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

และในกรณีกรรมการเพิ่มมากกว่าจำนวนขั้นต่ำตามที่กำหนดให้มีกรรมการจากผู้แทนนายจ้างระดับบังคับบัญชาและผู้แทนลูกจ้างเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน และให้ คปอ. มีวาระคราวละ 2 ปี

บทบาทหน้าที่ของ คปอ.

 

คปอ. มีหน้าที่อะไร ทำไมต้องมี

ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ได้กำหนดหน้าที่ของ คปอ. ไว้ 11 ข้อ ดังนี้

  1. พิจารณานโยบายและแผนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งความปลอดภัยนอกงานเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ การประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานหรือความไม่ปลอดภัยในการทำงานเสนอต่อนายจ้าง
  2. รายงานและเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานต่อนายจ้าง เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ผู้รับเหมา และบุคคลภายนอก ที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการในสถานประกอบกิจการ
  3. ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
  4. พิจารณาข้อบังคับและคู่มือความปลอดภัยในการทำงาน  รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานกิจการเสนอต่อนายจ้าง
  5. สำรวจการปฎิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และตรวจสอบสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการนั้นอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
  6. พิจารณาโครงการหรือแผนการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานรวมทั้งโครงการหรือแผนการอบรมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยของลูกจ้างหัวหน้างานผู้บริหารนายจ้างและบุคลากรทุกระดับเพื่อเสนอความคิดเห็นต่อนายจ้าง
  7. วางระบบการรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้างทุกคนทุกระดับต้องปฏิบัติ
  8. ติดตามผลความคืบหน้าเรื่องที่เสนอนายจ้าง
  9. รายงานผลการปฎิบัติงานประจำปีรวมทั้งระบุปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเมื่อปฎิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีเพื่อเสนอต่อนายจ้าง
  10. ประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
  11. ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างมอบหมาย

 

ช่วยกันทำงานตามบทบาทและหน้าที่

 

การประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทำอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร

การประชุม คปอ. ต้องประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง หรือเมื่อคณะกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งร้องขอ แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะประชุมก็จัดได้เลย  จป. จะต้องแจ้งกำหนดการประชุมและระเบียบวาระการประชุมให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อย 3 วันก่อนถึงวันประชุม

เพื่อให้คณะกรรมการได้เตรียมข้อมูลสำหรับนำเสนอในการประชุม  และเมื่อถึงวันประชุมในระหว่างการประชุม อาจมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในแต่ละเรื่องอาจจะทำให้ต้องตัดสินใจ หรือมีข้อถกเถียงเกิดขึ้น ซึ่งหากหาข้อสรุปไม่ได้ จป.ต้องรีบตัดบท เพื่อให้การประชุมไม่ยืดเยื้อ เช่น ติดตามในการประชุมครั้งถัดไป และไปหัวข้ออื่นต่อ และหากมีคณะกรรมการ ต้องการเสนอแนวทาง หรือต้องการแจ้งเรื่องอะไร ก็สามารถแจ้งในที่ประชุมได้เลย และในการประชุม บางครั้งอาจมีเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย มาแจ้งในการประชุม คปอ. เนื่องจากมีทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นเวทีที่ดีในการประชุมที่สามารถแจ้งข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การประชุม คปอ. ทำให้งานด้านความปลอดภัยเดินหน้าและพัฒนาขึ้น เนื่องจากมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และสามารถพิจารณาตัดสินใจในที่ประชุมได้ เนื่องจากมีนายจ้างเข้าร่วมประชุมด้วย และหากฝ่ายลูกจ้างมีปัญหาอะไร ก็จะนำเสนอในที่นี้ ทำให้นายจ้างได้รับทราบถึงปัญหา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานอย่างทั่วทั้งองค์กร

และเมื่อการประชุมดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ต้องสรุปรายงานการประชุมติดให้ลูกจ้างได้เห็นในที่ที่เห็นได้ชัดภายในเจ็ดวันหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว

สรุป

คปอ. ถือเป็นกลุ่มคนที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนและยกระดับด้านความปลอดภัยของบริษัท ซึ่งจำนวน คปอ. ต้องไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด และเมื่อมีการแต่งตั้งแล้ว ต้องให้ คปอ อบรมเพื่อให้มีความรู้ในหน้าที่ของตนเอง ภายใน 60 วัน นับจากวันแต่งตั้ง และต้องมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และต้องสรุปรายงานการประชุมภายใน 7 วัน ติดไว้ในที่ที่เห็นได้ชัด

เกี่ยวกับเรา

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่คุณสามารถค้นหาบทความเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ที่สามารถอ่านได้ฟรี! และมีการอัปเดตเนื้อหาใหม่ทุกๆวัน 

Copyright @2023  All Right Reserved – Designed and Developed by kentvalentine